ตอบปัญหา ฮวงจุ้ย ดวงจีน ฤกษ์ยาม โปรแกรม > ประชาสัมพันธ์ / เรื่องน่ารู้

* เกร็ดความรู้จีน - เคล็ดลับ - ธรรมเนียม - ประเพณี - มารยาท *

<< < (2/2)

fengshui:
ต้นกำเนิดของวันตรุษจีน

ในสมัยราชวงศ์ฉิง เป็นช่วงเริ่มมีประเพณีวันตรุษจีน
ในสมัยนั้น เมื่อเข้าสู่ฤดูหนาว ผู้คนจะกลับไปอยู่บ้าน ใช้ไม้หรือวัตถุอื่นๆปิดหน้าต่างทางทิศเหนือ จะจุดไฟในบ้านเพื่อให้มีควัน
และใช้ควันไล่หนูออกจากบ้านไป เตรียมตัวจะฉลองปีใหม่
ชาวบ้านจะเตรียมเหล้าและเครื่องบูชาเทพเจ้าทั้งหลาย เพื่อขอบคุณเทพเจ้าที่ช่วยคุ้มครองและขอให้คุ้มครองต่อไป

แต่สมัยนั้น ประเทศจีนยังไม่ได้รวมเป็นหนึ่ง ยังอยู่ในสภาพหลายก๊กหลายแคว้น
ฉะนั้น การฉลองปีใหม่จึงอยู่ในเวลาที่แตกต่างกัน มีจุดเหมือนกันก็คือ ล้วนอยู่ในฤดูหนาว
ซึ่งเป็นช่วงที่ไม่ต้องทำไร่ไถนา เป็นช่วงพักผ่อน ซึ่งการพักผ่อนนี้ ค่อยๆก่อรูปขึ้นเป็นประเพณีวันตรุษจีน

หลังราชวงศ์ฉิง ประเทศจีนเข้าสู่สมัยราชวงศ์ฮั่น ซึ่งมีการรวมจีนเป็นเอกภาพแล้ว
เวลานั้น เป็นระยะเวลาหลังสงคราม จึงพยายามส่งเสริมให้พักผ่อน เพื่อฟื้นฟูการเกษตรและให้สังคมมีเสถียรภาพ
ทั้งนี้ทำให้ประชาชนเริ่มคิดถึงการใช้ชีวิตให้มีความสุข และค่อยๆมีเทศกาลต่างๆปรากฎขึ้น
โดยเฉพาะเมื่อมีปฏิทิน "ไท่ชู" ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ปฏิทินฉบับนี้ ได้กำหนดให้วันชิวอิกเดือนอ้ายเป็นปีใหม่
ในวันนี้ จะไหว้เจ้า บูชาฟ้าดิน และจัดงานเฉลิมฉลองต่างๆพร้อมกัน พร้อมไปกับการพัฒนาของสังคม

แม้ว่าราชวงศ์มีการเปลี่ยนแปลง แต่วันปีใหม่นี้ไม่ได้เสื่อมลง กลับมีความเจริญยิ่งขึ้น
มีกิจกรรมจุดประทัด ติดยันต์ ดื่มเหล้า ส่งท้ายปีเก่า และชมโคมไฟ เป็นต้น
อีกทั้งยังได้ใช้เวลามากขึ้นด้วย จากหนึ่งวันกลายเป็นหลายวัน จนกลายเป็นเทศกาลที่สำคัญที่สุดของจีน และเรียกกันว่า "วันตรุษจีน"

จนถึงราชวงศ์ถัง ประเพณีปีใหม่เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป
ราชวงศ์ถังเป็นยุคสมัยที่มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศ
ผู้คนจึงเริ่มหลุดพ้นจากบรรยากาศบูชาเทพเจ้า ขอพรจากสวรรค์ วันปีใหม่ค่อยๆเปลี่ยนเป็นเทศกาลบันเทิง
จุดสำคัญในเทศกาลนี้ ไม่ใช่เทพเจ้า หากเป็นมนุษย์ไปเสียแล้ว ปีใหม่จึงเป็นวันดีของประชาชนทั้งหมด

เมื่อมาถึงสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ประเพณีปีใหม่มีความหมายกว้างยิ่งขึ้น
นอกจากให้ตัวเองได้พักผ่อนบันเทิงแล้ว ผู้คนยังเดินทางไปเยี่ยมเยือนกัน
มีการส่งของขวัญไปมาเพื่อแสดงความคิดถึงและความปรารถนาดีต่อกัน

ส่วนทางสังคมยังมีงานต่างๆด้วย ที่กรุงปักกิ่งมีการเที่ยวตลาด ชาวกวางโจวจะไปซื้อดอกไม้
ชาวเซี่ยงไฮ้จะไปเที่ยว "เฉิงหวงเมี่ยว" ชาวซูโจวจะไปฟังเสียงระฆังที่วัดหันซัน เป็นต้น


ในช่วงระยะเวลากว่า 2000 ปี ประเพณีวันตรุษจีนได้เผยแพร่ไปทั่วประเทศ เข้าสู่วิถีชีวิตของทุกๆคน
และกล่าวได้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของจิตวิญญาณของชนชาติจีน เมื่อถึงวันที่ 1 เดือนอ้ายตามจันทรคติ
คนจีนทุกคนจะกลับบ้าน ไม่ว่าตัวเองจะอยู่ที่ไหน จะพยายามกลับบ้านเพื่อไหว้บรรพบุรุษและอวยพรผู้ใหญ่
ให้ครอบครัวอยู่พร้อมหน้ากัน ถือเป็นเทศกาลสำคัญที่สุดของชาวจีนทุกคน

fengshui:
ประเพณีวันตรุษจีน

ประมาณ 10 วันก่อนตรุษจีนจะมาถึง ชาวจีนก็เริ่มเตรียมตัวสำหรับเฉลิมวันขึ้นต้นปีใหม่กันแล้ว
เรียกว่า"หมังเหนียน" แปลตรงตัวก็คือ ยุ่งเกี่ยวกับการต้อนรับปีใหม่

ครอบครัวแต่ละบ้านจะทำความสะอาดบ้านกันขนาดใหญ่ เลือกซื้อเครื่องประดับเป็นสิริมงคลมาตกแต่งบ้าน
เพื่อต้อนรับญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายมาอวยพรปีใหม่
ส่วนเรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องเตรียมกันอย่างดีคือ อาหารการกิน

อาหารช่วงตรุษจีนเรียกว่า"เหนียนหั้ว" หมูเห็ดเป็ดไก่ มีพร้อมทุกอย่าง
เมื่อตรุษจีนใกล้จะมาถึง ชาวจีนก็จะแห่กันไปซุปเปอร์มาร์เก๊ตเพื่อเลือกซื้อเหนียนหั้ว
ของที่จะหิ้วกลับมา มีทั้งเนื้อ ปลา เหล้า ใบชา น้ำตาล ผลไม้และผลไม้เปลือกแข็งครบทุกอย่าง

ตามประเพณีของชาวจีนที่อยู่ทางฝั่งใต้แม่น้ำแยงซีเกียง แต่ละบ้านจะต้องหุงข้าวสวยสำหรับปีใหม่ไว้ล่วงหน้า
ข้างบนใส่ส้ม กระจับ แห้วและผลไม้ชนิดต่างๆและเหนียนเกาหรือขนมปีใหม่ที่ทำเป็นรูปเงินตราโบราณของจีน ประดับด้วยกิ่งสน
เรียกข้าวนี้ว่า"เหนียนฟั่น"(ข้าวแห่งปีใหม่)

ส่วนชาวจีนทางภาคเหนือจะใช้ข้าวฟ่างกับข้าวธรรมดาผสมกันทำ"เหนียนฟั่น"
เนื่องจากข้าวฟ่างที่ต้มสุกแล้วจะออกสีเหลือง ขับความงามกับข้าวสวยที่เป็นสีขาว คนท้องถิ่นจึงตั้งชื่อเพราะๆว่า"ข้าวเงินทอง"
นอกนั้นยังมีส่วนประกอบอีกหลายอย่าง เช่นพุทรา เกาลัด ลำไยและกิ่งสน
แต่อาหารที่ชาวจีนทางภาคเหนือชอบกินมากที่สุดในวันสุกดิบคือเกี๊ยวน้ำ

ส่วนไส้เกี๊ยวมีมากมายหลายชนิด ไส้แต่ละชนิดมีความหมายดีๆต่างๆกัน
เช่น ไส้น้ำตาลหมายถึงฝากความปรารถนาที่จะดำรงชีวิตอย่างมีความสุข
ไส้ถั่วลิสงหมายถึงฝากความหวังให้มีอายุยืน

บางครอบครัวจะแอบใส่เหรียญเงินไว้ในไส้เกี๊ยวด้วยถ้าใครเคี้ยวเจอเหรียญในเกี๊ยวน้ำ
ก็ถือเป็นคนโชคดีที่สุดที่จะพบลาภแห่งทรัพย์สินเงินทองตลอดปีใหม่ที่จะถึงนี้

อาหารการกินในช่วงเทศกาลตรุษจีน 5 วันจะอุดมสมบูรณ์มาก
แต่กับข้าวทุกมื้อต้องมีปลา เพราะปลาภาษาจีนออกเสียงว่า"หยี" พ้องเสียงกับภาษาจีนอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีความหมายว่า"มีเหลือ"
ที่ต้องกินปลาก็เพื่อให้ความหมายสิริมงคลที่จะเหลือกินเหลือใช้

fengshui:
สำหรับที่ปักกิ่ง อาหารพื้นเมืองที่ผู้คนทั่วๆไปมักนิยมรับประทานกันก็คือ
เกี๊ยวหรือที่เรียกว่า"เจี่ยวจือ" เจี่ยวจือทำด้วยแป้งสาลี ข้างในมีไส้ต่างๆทั้งเนื้อและผัก ไ
ส้เจี่ยวจือมักทำด้วยเนื้อหมูสับผสมผักกาดขาวหรือผักอื่นๆตามชอบ แล้วแต่รสนิยมของแต่ละคน

การรับประทานเจี่ยวจือก็เพื่อเอาความหมายอันเป็นสิริมงคลของเกี๊ยวนั่นเอง
เพราะรูปลักษณ์ของเจี่ยวจือคล้ายกับเงินโบราณที่จีนเรียกว่า"หยวนเป่า" ซึ่งเป็นทองแท่งหรือเงินแท่งที่ใช้กันในสมัยโบราณ
หัวท้ายทั้ง 2 ข้างงอนขึ้น กลางแอ่นลง

ส่วนอาหารการกินในวันตรุษจีนของทางภาคใต้มักจะอุดมสมบูรณ์กว่าทางภาคเหนือของจีน
นอกจากอาหารประเภทหมูเห็ดเป็ดไก่แล้ว อาหารจำพวกขนมนมเนยก็มีมากมายหลายชนิด
คนจีนทางภาคใต้จะนิยมรับประทานขนม"เหนียนเกา"กันทุกปีเพื่อความหมายอันเป็นสิริมงคล
เพราะเสียงของคำว่า"เหนียนเกา" มีความหมายอีกอย่างหนึ่งว่า "เจริญขึ้นทุกปี"นั่นเอง แต่ตามตัวหนังสือแปลว่า"ขนมนึ่งประจำปี"

fengshui:
เรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลตรุษจีน

ที่ประเทศจีน พอถึงเทศกาลตรุษจีน คนจีนมักจะตกแต่งฉลองด้วยการแขวนโคมไฟตัวใหญ่สีแดงสดหน้าประตูบ้านหรือภายในอาคาร
ปิดตัวหนังสือ "ฮก" ไว้บนบานประตู ปิดภาพทวารบาล ปิดโคลงคู่ตามกรอบประตูบ้าน และปิดภาพวาดฉลองตรุษจีนในห้องรับแขก

นอกจากนี้ ยังมีการปิดกระดาษตัดและกระดาษแก้วตัดประดับหน้าต่าง เป็นต้น
ประเพณีดังกล่าวมีความเป็นมาตามการเล่าขานกันดังนี้

เล่ากันว่า แถบทะเลตงไห่มีภูเขาแสนสวยงามลูกหนึ่งเรียกว่า ภูเขาเมืองท้อ บนภูเขาแห่งนี้
มีต้นท้อต้นใหญ่ต้นหนึ่ง กิ่งก้านของต้นท้อที่ห้อยลงมาดูเหมือนเป็นประตูบานใหญ่
ภูตผีปีศาจต่างๆ ที่อยู่บนภูเขาดังกล่าวเวลาลงจากภูเขาก็ต้องผ่านประตูดังกล่าว แต่ก็ผ่านยาก

เพราะว่ามีนักรบเทพยดาสององค์เป็นยามเฝ้าประตูอยู่เพื่อ ไม่ให้ภูตผีปีศาจเล็ดลอดออกไปก่อกวนโลกมนุษย์
นักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าวมีพระนามว่า "เซินซู" และ "ยวี่ลวี่"
หากผีตนใดตนหนึ่งถูกนักรบเทพยดาสจับได้ก็จะถูกมัดตัวส่งไปให้เป็นอาหารอันโอชะของเสือ
ฉะนั้น ภูตผีปีศาจทั้งหลายจึงล้วนมีความหวาดกลัวนักรบเทพยดาสององค์นี้มากที่สุด

ด้วยเหตุนี้เอง ผู้คนจึงวาดภาพหรือเขียนพระนามของนักรบเทพยดาสององค์ดังกล่าวบนแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ต้นท้อสองแผ่น
แล้วนำไปแขวนไว้สองข้างประตู เพื่อเป็นการขับไล่สิ่งอัปมงคลออกจากบ้านไป
แผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่นนี้เรียกว่าเป็น "ยันต์ท้อ"

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ถางเมื่อศตวรรษที่ 7
นักรบเทพยดาสององค์บนยันต์ท้อถูกเปลี่ยนมาเป็นขุนศึกสองนายในโลกมนุษย์ ได้แก่ ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้ง
เรื่องมีว่า กษัตริย์ถางไท่จงเคยทรงพระสุบินว่ามีปีศาจร้องโฮๆ อยู่นอกพระราชวังบ่อยๆ พระองค์จึงบรรทมไม่ค่อยหลับ
ฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้งซึ่งเป็นพระราชองครักษ์จึงไปเฝ้าประตูพระราชวังให้กับกษัตริย์ถางไท่จงโดยถืออาวุธในมือเพื่อขับไล่ปีศาจ

หลังจากนั้น ปรากฏว่า กษัตริย์ถางไท่จงสามารถเข้าบรรทมได้อย่างสงบ
อย่างไรก็ตาม พระองค์ไม่อยากให้พระราชองครักษ์สองนายดังกล่าวต้องถวายการเฝ้าประตูทุกคืน
จึงสั่งการให้วาดภาพอันองอาจกล้าหาญขององครักษ์สองนายดังกล่าว แล้วนำไปปิดที่ประตูพระราชวังเพื่อสยบภูตผีปีศาจต่างๆ
เรื่องนี้ได้รับการเปิดเผยออกไป ชาวบ้านก็เอาเยี่ยงอย่างโดยนำภาพวาดของฉินซูเป่าและเว่ยฉือก้งไปปิดไว้ที่ประตูเช่นกัน
และเรียกสองคนดังกล่าวว่าเป็น "ทวารบาล"

ครั้นถึงสมัยราชวงศ์ซุ่ง ก็มีภาพวาดฉลองตรุษจีนปรากฏขึ้นมา คือ
พอถึงเทศกาลตรุษจีนก็จะนำภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้นไปปิดไว้บนบานประตูหรือในห้องโดยจะไม่เปลี่ยนจนกว่าตรุษจีนครั้งต่อไป
คือ เปลี่ยนกันปีละครั้ง จึงเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า "ภาพวาดแห่งปี"

ประเด็นของภาพวาดฉลองตรุษจีนนั้น ส่วนใหญ่จะสื่อในทางสิริมงคล
ตัวอย่างเช่น ภาพไตรเทพยดา "ฮก ลก ซิ่ว" ซึ่งเป็นภาพที่พบบ่อยที่สุดเนื่องจากเทพยดาสามองค์ดังกล่าว
เป็นสัญลักษณ์แห่งบุญวาสนา ความมั่งคั่งและอายุยืน

นอกจากนี้ ยังมีภาพที่ชาวจีนนิยมกันมากที่สุดอีกภาพหนึ่งคือ "เด็กจ้ำม้ำอุ้มปลาหลีฮื้อ"
เนื่องจากคำว่าปลาในภาษาจีนพ้องจองกับคำว่า "เหลือ" ภาพนี้จึงเป็นสัญลักษณ์แห่ง "การเหลือกินเหลือใช้ทุกๆ ปี"

ครั้นถึงราวศตวรรษที่ 10 "ยันต์ท้อ" ซึ่งประกอบด้วยแผ่นป้ายที่ทำด้วยไม้ท้อสองแผ่นก็ได้พัฒนามาเป็นโคลงคู่ตรุษจีน
โคลงคู่ตรุษจีนจะเป็นกาพย์กลอนประเภทคำอวยพรและความปรารถนาดีๆ ในรอบปีใหม่

สิ่งที่น่าสนใจคือ ของตกแต่งเหล่านี้ล้วนเป็นสีแดงสด ที่แสดงถึงความร้อนแรงและความครึกครื้น
ซึ่งเป็นการสื่อให้เห็นถึง "ความร้อนดั่งไฟ" "ความเป็นสิริมงคล" และ "ความผาสุข" ที่ชาวจีนนิยมกันมานับร้อยนับพันปี

.....

ก่อนวันตรุษจีนมาถึง ผู้คนทั้งหลายมักจะจุดประทัดกันเพื่อฉลองตรุษจีน
แต่ทุกวันนี้ เนื่องจากปัจจัยด้านความปลอดภัยและมลภาวะต่างๆ ในเขตเมืองปักกิ่งและเมืองใหญ่อื่นๆอีกหลายเมืองของจีน
ได้ใช้นโยบายห้ามจุดประืทัดกันเสียแล้ว

เมื่อถึงวันชิวอิด สมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นผู้ใหญ่หรือเด็กเล็ก
ต่างก็จะสวมใส่เสื้่อใหม่กันเพื่้อต้อนรับการมาเยือนของญาติมิตรหรืออกไปเยี่ยมเยียนและกล่าวสวัสดีปีใหม่กับญาติมิตร
ถ้าในรอบปีที่ผ่านมา เคยเกิดความขัดแย้งบางประการระหว่างกัน
แต่ขอให้ได้กล่าวอวยพรปีใหม่ต่อกันในช่วงตรุษจีน ก็จะถือกันว่า ทุกฝ่ายต่างได้ให้อภัยซึ่งกันและกันแล้วพร้อมๆกับปีใหม่ที่มาเยือน

นำร่อง

[0] ดัชนีข้อความ

[*] หน้าที่แล้ว

Go to full version