ฮวงจุ้ย ดวงจีน ฤกษ์ยาม สุสาน ฮวงซุ้ย โหราศาสตร์จีน

ตอบปัญหา ฮวงจุ้ย ดวงจีน ฤกษ์ยาม โปรแกรม => ประชาสัมพันธ์ / เรื่องน่ารู้ => Topic started by: fengshui on 26 มี.ค. , 2012, 04:13:32 am

Title: *** ความรู้ : ต้นกำเนิด และที่มาทำไมต้อง 7 วัน
Post by: fengshui on 26 มี.ค. , 2012, 04:13:32 am
http://www.mythland.org/v3/thread-932-1-6.html

ต้นกำเนิด และที่มาทำไมต้อง 7 วัน

          จากการค้นคว้าหาข้อมูล พบว่า การใช้สัปดาห์มี 7 วัน มีมาตั้งแต่ยุคสุเมเรีย และบาบิโลน โดยมีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์โลกว่า ว่าได้มีการกำหนดให้หนึ่งสัปดาห์มี 7 วัน เมื่อประมานปีที่ 2350 ก่อนคริสตศักราช (2350BC) โดยกษัตริย์ซาร์ก้อนที่หนึ่งแห่งนครอัคคาด (Sargon I, King of Akkad) ภายหลังจากที่ได้ยึดครองเมืองอูร์ (Ur) และเมืองอื่น ๆ ในคว้นซูเมอร์เรีย (Sumeria) ชื่อของกษัตริย์องค์นี้ และเมืองนี้มีการอ้างถึงในหนังสือคัมภีร์สูตรเรือนชะตาของอาจาร์ยประยูร ผมจะไปค้นคว้าเพิ่มเติม แล้วกลับมาเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป

          นอกจากเมืองอูร์จะเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้สัปดาห์หนึ่งมีเจ็ดวันแล้ว ยังเป็นต้นกำเนิดของการกำหนดให้หนึ่งชั่วโมงมี 60 นาทีด้วย เพราะในยุคนั้น ชาวซุเมอร์เรียนใช้ระบบเลขหลัก 60 ในการคำนวน (แทนการใช้ระบบทศนิยมในปัจจุบัน)

          ในยุคสมัยนั้น มนุษย์มีความเชื่อว่า โลกเป็นศูนย์กลางของจักรวาล หรือเรียกว่า Geocentric ดวงอาทิตย์ และสิ่งต่างบนท้องฟ้าต่างโคจรรอบโลก และค้นพบว่ามีดาวเคราะห์ที่สามารถสังเกตุได้ด้วยตาเปล่า (naked eye planets) อยู่ 5 ดวง ซึ่งประกอบด้วย ดาวพุธ ดาวอังคาร ดาวศุกร์ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ เคลื่อนที่ผ่านกลุ่มดาวฤกษ์ (Fix Stars) หรือกลุ่มดาวในจักรราศี และเมื่อรวมกับ ดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ ก็จะมีดาวบริวารของโลกทั้งสิ้น 7 ดวง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักที่ทำไมสัปดาห์จึงมี 7 วัน จะเห็นได้จากชื่อที่ใช้เรียกในแต่ละวันยังคงมีความหมายที่เกี่ยวข้องกับดาว หรือตามตำนานของเทพเจ้าประจำดาว ทั้ง 7

การเรียงลำดับของวันในสัปดาห์ (Order)

          และเมื่อค้นลึกลงไปอีก ก็เป็นที่น่าประหลาดใจและเหลือเชื่ออย่างยิ่งว่า จริงๆแล้วการเรียงวันในสัปดาห์ มีรากฐานมาจากโหราศาสตร์นั้นเอง

          เมื่อโลกเป็นสูตรกลางของจักรวาล โดยมีดาวทั้ง 7 ดวงที่โคจรอยู่รอบโลกนั้น ดาวก็ถูกจัดเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี (Ptolemaic system) คือ เรียงจากดาวไกลสุดจากโลกมากที่สุดมายังดาวใกล้โลกมากที่สุด โดยใช้อัตราการโคจรรอบโลกเป็นตัววัด จึงได้การเรียงลำดับดังนี้ เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ดังรูปที่แสดง


          และจากนั้นให้แต่ละชั่วโมงมีดาวเป็นดาวประจำชั่วโมงอยู่ โดยเรียงลำดับตาม เสาร์ พฤหัส อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ ตามลำดับ และวนรอบไปเรื่อยๆ ซึ่งเรียกว่า “Planetary Hour” ซึ่งก็คือ ระบบยามแบบสากล นั้นเอง

          Planetary Hour หรือ ยามแบบสากล เป็นวิธีการทำนายกาลชะตา (Horary) แบบหนึ่ง ซึ่งยังคงได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย แล้วผมจะมาเล่าเพิ่มเติม ว่าน่าสนใจเพียงใด มีวิธีการทำนาย และการคำนวนอย่างไร

รูปที่แสดง ดาว 7 แฉก ตามยามแต่ละชั่วโมง (Heptagram of the week)


          ชั่วโมงแรกของรุ่งอรุณของวันที่ 1 เริ่มต้นที่ ดาวเสาร์ ให้ชื่อว่า "ชั่วโมงของเสาร์" ถัดไปชั่วโมงที่ 2 เป็น "ชั่วโมงของพฤหัส" ชั่วโมงที่ 3 เป็น "ชั่วโมงของอังคาร" ชั่วโมงต่อไป เป็น "ชั่วโมงของอาทิตย์", "ชั่วโมงของศุกร์", "ชั่วโมงของพุธ" และ "ชั่วโมงของจันทร์" ตามลำดับ  และเมื่อครบรอบ 7 ชั่วโมง ก็จะวนกลับมาที่ “ชั่วโมงของเสาร์” ใหม่ เป็นวงรอบไปเรื่อยๆไม่รู้จบ

          ดังนั้นชั่วโมงที่ 25 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 2 ก็จะเป็น “ชั่วโมงของอาทิตย์” และชั่วโมงที่ 49 หรือชั่วโมงที่ 1 ของวันที่ 3 คือ “ชั่วโมงของจันทร์”

          และเมื่อเรียงลำดับชั่วโมงไปเรื่อย ครบทั้ง 7 วัน เราก็จะพบว่าชื่อของวันนั้น คือ ดาวที่ประจำของรุ่งอรุณในแต่ละวัน ดังนั้นจริงๆ แล้ววันแรกในสัปดาห์จะเริ่มต้นด้วย “วันเสาร์” และถัดไปคือ วันอาทิตย์ จันทร์ อังคาร พฤหัสบดี และ ศุกร์ ตามลำดับ

          หากท่านใดมีความรู้เรื่องยามอัฐกาล ของโหราศาสตร์ไทย ก็จะพบว่าลำดับดาวพระเคราห์ประจำยามในภาคกลางวัน มีการเรียงลำดับตามระบบปโตเลมี ซึ่งอาจาร์ยพลูหลวง เคยเขียนบทความถึงความมหัศจรรย์ของดาว 7 แฉกนี้ ทั้งเรื่องของยามอัฐกาล และ เลข 7 ตัว



ชื่อวัน ใน 1 สัปดาห์ (The Names of the Days)

          การกำหนดชื่อวันในแต่ละสัปดาห์ในทุกชาติทุกภาษาจะตั้งชื่อให้เกี่ยวข้องกับเทพเจ้าในตำนาน หรือมีความหมายตามดาวดาวทั้ง 7 แทบทั้งสิ้น สมัยแรกๆ จะให้วันเสาร์ (Saturday) เป็นวันแรกของสัปดาห์ ต่อมา ได้นับถือดวงอาทิตย์มากขึ้น จึงให้วันของดวงอาทิตย์ (Sun's day) เลื่อนอันดับ จากวันอันดับที่ 2 ของสัปดาห์ เป็นวันแรกของสัปดาห์แทน ทำให้วันเสาร์ กลายเป็นวันลำดับที่ 7 ของสัปดาห์ไปในที่สุด

วันอาทิตย์ (Sunday)
มีชื่อมาจากภาษาละติน ว่า "dies solis" หมายถึง "วันของดวงอาทิตย์" (Sun's day) เป็นชื่อวันหยุดของคนนอกศาสนา และต่อมา ถูกเรียกว่า "Dominica" (ภาษาละติน) หมายถึง "วันของพระเจ้า" (the Day of God) ต่อมา ภาษาที่มีรากศัพท์มาจากภาษาละติน เช่น ฝรั่งเศส, สเปน, อิตาเลี่ยน ก็ยังคงใช้คำที่คล้ายกับรากศัพท์ดังกล่าว เช่น

• ภาษาฝรั่งเศส: dimanche;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: domenica;
• ภาษาสเปน: domingo
• ภาษาเยอรมัน: Sonntag;
• ภาษาดัทช์: zondag ทั้งหมดมีความหมายว่า "Sun-day"

วันจันทร์ (Monday)
มีชื่อมาจากคำว่า "monandaeg" หมายถึง "วันของดวงจันทร์" (The Moon's day) เป็นวันที่สองของสัปดาห์ ที่ตั้งขึ้นมา เพื่อสักการะ "เทพธิดาแห่งดวงจันทร์" (The goddess of the moon)

• ภาษาฝรั่งเศส: lundi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: lunedi;
• ภาษาสเปน: lunes (มาจากคำว่า Luna หมายถึง "ดวงจันทร์")
• ภาษาเยอรมัน: Montag;
• ภาษาดัทช์: maandag ทั้งหมดมีความหมายว่า "Moon-day"

วันอังคาร (Tuesday)
      เป็นชื่อเทพเจ้า Tyr ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Tyr) ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้าสงคราม แห่งดาวอังคาร (the war-god Mars) ว่า "dies Martis"
• ภาษาฝรั่งเศส: mardi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: martedi;
• ภาษาสเปน: martes
• ภาษาเยอรมัน: Diensdag;
• ภาษาดัทช์: dinsdag;
• ภาษาสวีเดน: tisdag

วันพุธ (Wednesday)
เป็นวันที่ตั้งเป็นเกียรติสำหรับ เทพเจ้า Odin ของชาวสวีเดน และนอรเวโบราณ ส่วนชาวโรมันเรียกว่า "dies Mercurii" สำหรับใช้เรียกเทพเจ้า Mercury (ประจำดาวพุธ)

• ภาษาฝรั่งเศส: mercredi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: mercoledi;
• ภาษาสเปน: miercoles
• ภาษาเยอรมัน: Mittwoch;
• ภาษาดัทช์: woensdag

วันพฤหัสบดี (Thursday)
เป็นชื่อเทพเจ้า Thor ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse god Thor) เรียกว่า "Torsdag" ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Jove หรือ Jupiter ซึ่งเป็นเทพเจ้า แห่งเทพทั้งปวง และเรียกวันนี้ว่า "dies Jovis" หมายถึง วันของ Jove (Jove's Day)

• ภาษาฝรั่งเศส: jeudi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: giovedi;
• ภาษาสเปน: el jueves
• ภาษาเยอรมัน: Donnerstag;
• ภาษาดัทช์: donderdag ทั้งหมดมีความหมายว่า "วันสายฟ้า" (Thundar day)

วันศุกร์ (Friday)
      เป็นชื่อเทพธิดา Frigg ของชาวนอรเวโบราณ (The Norse goddess Frigg) ภาษาเยอรมันเคยเรียกว่า "frigedag" ส่วนชาวโรมัน เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพธิดา Venus ว่า "dies veneris"

• ภาษาฝรั่งเศส: vendredi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: venerdi;
• ภาษาสเปน: viernes
• ภาษาเยอรมัน: Freitag;
• ภาษาดัทช์: vrijdag

วันเสาร์ (Saturday)
      ชาวโรมันใช้เรียกเป็นชื่อสำหรับเทพเจ้า Saturn ว่า "dies Saturni" หมายถึง Saturn's Day.

• ภาษาฝรั่งเศส: samedi;
• ภาษาอิตาเลี่ยน: sabato;
• ภาษาสเปน: el sabado
• ภาษาเยอรมัน: Samstag;
• ภาษาดัทช์: zaterdag;
• ภาษาสวีเดน: Lordag
• ภาษาเดนมาร์คและนอรเว: Lordag หมายถึง "วันชำระล้าง" (Washing day)