การแพทย์และยาแผนจีน
การแพทย์แผนโบราณของจีนใช้หลักการหยินหยางและธาตุทั้งห้าเป็นทฤษฎีพื้นฐาน
และใช้วิธีตรวจวินิจฉัยโรค 4 วิธี คือ "วั่ง" (การมอง) "เหวิน" (การฟังและสูดดม) "เวิ่น" (การถาม) และ "เชี่ย" (การจับแมะหรือการจับชีพจร)
เมื่อวินิจฉัยโรคแล้วจึงดำเนินการรักษาด้วยวิธีที่เหมาะสม การแพทย์แผนโบราณของจีนมีทฤษฎีเฉพาะศาสตร์ที่เป็นระบบ
โดยมีความเชื่อพื้นฐานว่ามนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติซึ่งประกอบขึ้นจากธาตุหยินและหยาง
ธาตุทั้งสองมีคุณสมบัติตรงข้ามกันแต่ต่างอยู่บนพื้นฐานของกันและกัน
ดังนั้นหากสภาพความสมดุลของหยินและหยางถูกทำลาย ก็ย่อมทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บขึ้น
นอกจากนี้ยังเชื่อว่าหลักการดำรงชีวิตและการเกิดโรคภัยต่างๆ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ
(เช่นสภาพอากาศในแต่ละฤดูกาล สภาพของพื้นที่ต่างๆ การผลัดเปลี่ยนของเวลากลางวันและกลางคืน เป็นต้น)
ดังนั้นระดับการปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติของมนุษย์ในสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติที่แตกต่างย่อมไม่เท่ากัน
ทำให้สภาพร่างกายและภาวะการเกิดโรคต่างกันไปด้วย
ด้วยเหตุนี้การวินิจฉัยโรคของการแพทย์แผนจีนจึงให้ความสำคัญกับปัจจัยด้านเวลา
สิ่งแวดล้อมและสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลมาก โดยจะไม่วินิจฉัยอย่างตายตัวจากอาการของโรคเพียงอย่างเดียว
หลักการแพทย์แผนจีนถือว่าอวัยวะทุกส่วนในร่างกายรวมเป็นองค์เดียว
ดังนั้นการวินิจฉัยและรักษาโรคจึงไม่ได้พิจารณาจากความผิดปกติของอวัยวะเฉพาะส่วนหรืออาการป่วยเพียงด้านเดียว
แต่จะพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านและให้ความสำคัญกับแนวคิดองค์รวมของร่างกายเป็นสำคัญ
จากนั้นจึงเลือกใช้วิธีการรักษาหรือวิธีการป้องกันโรคที่เหมาะสม
วิธีการรักษาของการแพทย์แผนจีนมีหลากหลายวิธี โดยแบ่งออกเป็นสองประเภทใหญ่ๆ ได้แก่
การรักษาภายในด้วยการรับประทานยาและการรักษาภายนอกด้วยยาทา การนาบด้วยความร้อน การรม ฯลฯ
นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาโดยไม่ใช้ยาแบบอื่น เช่น การฝังเข็ม การใช้กระปุกร้อนอังผิวหนัง การขูดผิวหนัง
การนวดกดจุด การนวดและชี่กง เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาด้วยการรับประทานยาหรืออาหารบำรุงประเภทต่างๆ อีกด้วย
ปัจจุบันการแพทย์และยาแผนจีนได้รับการพัฒนาและแพร่หลายไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ทั้งยังมีความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนด้านการแพทย์แผนจีนในระดับนานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ
ทุกวันนี้การแพทย์แผนจีนมีบทบาทมากขึ้นในวงการการแพทย์โลก
และคาดการณ์ว่าการแพทย์แผนจีนจะสามารถประโยชน์อย่างกว้างขวางแก่การรักษาสุขภาพอนามัยของชาวโลกในอนาคต
การฝังเข็ม
การฝังเข็มเป็นวิธีการรักษาโรคที่มีเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของจีน
การรักษาแบบนี้เป็น "การรักษาโรคภายในจากภายนอก" ด้วยวิธีการเฉพาะ
โดยรักษาผ่านเส้นทางหลักและแขนงของทางเดินเลือดลมและจุดลมปราณต่างๆ
ทฤษฎีพื้นฐานของวิชาการฝังเข็มก็คือทฤษฎีเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมภายในร่างกาย
แพทย์แผนจีนเชื่อว่าเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมมีลักษณะเป็นทางหลักและแขนงย่อยที่โยงใยถึงกัน
จึงสามารถเชื่อมโยงอวัยวะส่วนต่างๆ ให้รวมเป็นองค์เดียวอย่างเป็นระบบ
การรักษาโดยวิธีการฝังเข็มโดยทั่วไปมักจะเลือกฝังเข็มบนจุดลมปราณที่อยู่บนเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลม
เพื่อไปกระตุ้นให้ภูมิต้านทานโรคภายในร่างกายของผู้ป่วยทำงานหรือเพื่อปรับสมดุลภายในร่างกาย
ทำให้สามารถรักษาโรคได้ตามความมุ่งหมาย
การวินิจฉัยโรคแบบแพทย์แผนจีน จะต้องหาสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคเสียก่อน
โดยการจำแนกลักษณะอาการของโรคเพื่อหาสาเหตุว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นมาจากความผิดปกติของเส้นทางการไหลเวียนของเลือดลมเส้นใด
หรือมาจากอวัยวะภายในส่วนใด และต้องจำแนกว่าอาการดังกล่าวจัดเป็นอาการที่เกิดจากภายนอกหรือภายใน
เกิดจากความหนาวหรือความร้อน หรือเกิดจากความแกร่งหรือความพร่อง เป็นต้น
จากนั้นจึงค่อยรักษาด้วยการฝังเข็มตรงจุดลมปราณที่เหมาะสมตามอาการของโรค
เพื่อให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีและเป็นการปรับสมดุลของหยินหยางและสมรรถภาพของอวัยวะภายในต่างๆ
วิชาการฝังเข็มเป็นศาสตร์ทางการแพทย์ที่มีประวัติความเป็นมายาวนานกว่า 2,000 ปี โดยตำราเล่มแรกของวิชานี้ชื่อว่า หวงตี้เน่ยจิง
การรักษาด้วยวิธีการฝังเข็มมีจุดเด่นหลายประการได้แก่ วิธีการรักษาเรียบง่าย เห็นผลเร็ว ประหยัดและปลอดภัย
ศาสตร์ทางการแพทย์แขนงนี้จึงเป็นที่แพร่หลายและสืบทอดต่อกันมาตลอดระยะเวลา 2,000 ปี
และในช่วงหลายปีมานี้วิชาการฝังเข็มก็กลายเป็นวิชาที่ได้รับความนิยมอย่างมากในระดับนานาชาติ
ปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยและการรักษาโรคด้วยการฝังเข็มในกว่า 140 ประเทศทั่วโลก