ดร.ปรางทิพย์ ยุวานนท์ นักวิชาการและผู้อำนวยการหลักสูตรบริหารธุรกิจดุษฎีบัณฑิต สาขาธุรกิจการกีฬาและการบันเทิง มหาวิทยาลัยศรีปทุม
ให้ทัศนะต่อสภาพของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยนักวิชาการท่านนี้ขอเปรียบสังคมไทยในปัจจุบันเป็นวัยรุ่นคนหนึ่ง วัยรุ่นที่วู่วาม
อยากจะเห็นเศรษฐกิจของประเทศโลดแล่น เติบโต ร่ำรวยเหมือนใครๆ เขาบ้าง และบางครั้งก็อดไม่ได้ที่จะกระฟัดกระเฟียด
รู้สึกขัดใจ ไม่ได้ดั่งใจกับการเดินทางของตนเองที่มักสะดุดหกล้มอยู่บ่อยครั้ง
ที่ผ่านมา ประเทศไทยเปรียบเหมือนกับวัยรุ่นที่วิ่งด้วยความรวดเร็ว แต่การขาดทักษะและประสบการณ์ในหลายๆ ด้านทำให้
เราสะดุดหกล้ม เจ็บตัว แต่มันก็แค่แผลถลอกนะคะ ไม่ถึงกับแข้งหักขาหัก และการสะดุดหกล้มนั้นจะทำให้การเดินก้าวต่อไป
เป็นก้าวที่ระมัดระวังมากขึ้น มั่นคงมากขึ้น เพราะเรามีบทเรียนมาแล้ว และอาจารย์เชื่อว่า สังคมไทยทุกวันนี้ก็กำลังปรับตัวกันอยู่
เพื่อที่จะได้ไม่สะดุดล้มเหมือนในอดีต
นอกจากนั้น ในทัศนะของ ดร.ปรางทิพย์ ความต้องการอยากได้อยากมีในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเองเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนในยุคนี้
ต่างปรารถนา ไม่ว่าจะเป็นบ้านสวยๆ ตึกดีๆ รถยี่ห้อดังๆ หรือโทรศัพท์แพงๆ ส่งผลให้สังคมมนุษย์พยายามปรับสิ่งต่างๆ รอบตัวมากมาย
ให้ได้ดังใจ แม้กระทั่งเพื่อน พ่อแม่ ญาติพี่น้อง สามีภรรยา หรือแม้แต่ลูก มนุษย์ทุกวันนี้ก็ต้องการจะเข้าไปปรับเขาเพื่อความสุขของตนเองทั้งสิ้น
หารู้ไม่ว่า การจะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างยั่งยืนนั้น ต้องเริ่มปรับจากตัวเองด้วยการดูแลจิตใจ ดูแลร่างกายตัวเองให้มันสมดุล
ทุกคนรักครอบครัว และทุกคนก็ทราบว่าการดูแลสุขภาพกายเป็นเรื่องสำคัญ แต่ทุกคนก็มักจะบอกว่า เอาไว้ก่อน ขอทำงานก่อน
สุดท้ายพอเจอโรคภัยถามหา เช่น เป็นเบาหวาน ความดัน หรือโรคหัวใจขึ้นมาก็มานั่งเสียใจว่า เราไม่ได้รักตัวเอง
ไม่ได้รักครอบครัวและคนใกล้ชิดเลย
คนเราชอบคิดนอกกาย แต่ลืมคิดถึงภายใน แต่จริงๆ แล้ว การที่จะเอาใจใส่ทั้งสุขภาพกาย สุขภาพใจของตัวเองนั้นสำคัญกว่า
สิ่งอื่นใดทั้งหมดเลย เพราะสังคมทุกวันนี้กิเลสเยอะ น้อยคนที่จะควบคุมความโลภ โกรธ หลงได้
ถ้าเราไม่สามารถควบคุมไลฟ์สไตล์ของเราได้ หรือใจเราไม่นิ่งพอ ก็อย่าคาดหวังว่าครอบครัวของเราจะสงบสุข สังคมของเราจะสงบสุขเลย
ตรงกันข้าม ถ้าชีวิตเราได้สมดุลเมื่อไหร่ คู่ชีวิตของเรา ลูกของเราก็จะสมดุลตาม เพราะเราไม่ไปเหวี่ยงเขา เขาก็ไม่มาเหวี่ยงเรา
มันก็จะสมดุลได้ด้วยตัวของมันเอง
สังคมช่างตำหนิ ตัวการก่อทุกข์
อย่างไรก็ดี แม้หลายคนจะทราบถึงประโยชน์ของการมีชีวิตที่สมดุล แต่อีกหนึ่งพฤติกรรมที่ฝังรากลึกมายาวนาน อย่างการช่างตำหนิติเตียน
ต่อว่าต่อขานกัน ก็เป็นอีกหนึ่งตัวการที่ไม่อาจทำให้ชีวิตคนเรามีสมดุลได้ รวมถึงปัญหาอีกหนึ่งประการของสังคมไทย นั่นก็คือ
เวลาเห็นผู้อื่นทำดีมักไม่ค่อยชื่นชมกัน ซึ่งในส่วนนี้ ดร.ปรางทิพย์ให้ความเห็นว่า
มีใครบ้างที่ชอบฟังคำตำหนิ ไม่มีเลย แม้กระทั่งเด็ก ถ้าเปรียบว่าเราเป็นครูอยู่หน้าห้องเรียน บอกได้ว่ามีเด็กที่ต้องการกำลังใจอยู่มากมาย
แถมเด็กบางคนโดนตี โดนตำหนิแล้วยิ่งเตลิดเปิดเปิง ดังนั้น เราคงต้องชมกันให้มากขึ้น ยิ่งทำดียิ่งต้องชมดังๆ แล้วก็ยิ้มให้กันมาก ๆ
เชื่อว่าสังคมรอบข้างจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอน
กระนั้น วันนี้ของวัยรุ่นที่ชื่อว่าประเทศไทยคนนี้ก็ยังยืนอยู่ในจุดที่น่าเป็นกังวล จากความรุนแรงที่รอการปะทุของหลาย ๆ ฝ่าย
ภายในตัวของเขาเอง ซึ่งไม่แน่ว่าอดีตที่ผ่านมาจะเป็นแผลที่ลึกเพียงพอให้เขาตระหนักถึงความสำคัญของการก้าวเท้าก้าวปัจจุบันนี้หรือไม่
และสมองของเขาจะประมวลผลให้ตนเองก้าวต่อไปอย่างไร แต่ในทัศนะของ ดร.ปรางทิพย์เผยว่า หากเขาได้มีเวลาทบทวนกับตัวเอง
เขาจะพบว่า เขายังมีสิ่งที่ดีกว่าที่ยังไม่ได้นำออกมาใช้ นั่นก็คือ คำสั่งสอนของพ่อ
อาจารย์เห็นว่า เราโชคดีที่ประเทศเรามีผู้ใหญ่ แม้เด็กจะเป็นวัยที่ทำอะไรด้วยความวู่วาม แต่สังคมไทยเป็นสังคมที่มีเจเนอเรชัน
คือมีลูกมีพ่อแม่ปู่ย่าตายาย การที่เด็กจะทำอะไรให้มั่นคง ขอให้ฟังคำผู้ใหญ่เอาไว้ ไม่ว่าจะเป็นปู่ย่าตายายหรือพ่อแม่
เพราะคนที่จะปรารถนาดีกับเด็กที่กำลังเติบโตก็คือท่านเหล่านี้ อยากให้เชื่อพ่อ แล้วก็ฟังพ่อ ฟังคนที่เป็นผู้ใหญ่พูดให้เยอะ
บางครั้งวัยรุ่นอาจไม่ได้ดั่งใจ อยากจะเห็นเศรษฐกิจโลดแล่น อยากจะต้องอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่มีใครรักเราเท่าพ่อของเราหรอก
ดังนั้น ถ้าประเทศไทยเป็นคน ฟังพ่อฟังแม่พูดไว้ให้เยอะ เชื่อและเคารพท่าน รับรองประเทศไทยรอดแน่นอนค่ะ