ตอบปัญหา ฮวงจุ้ย ดวงจีน ฤกษ์ยาม โปรแกรม > ประชาสัมพันธ์ / เรื่องน่ารู้
*** รวมหัวข้อ : บ้านดี ( ฮวงจุ้ยดี ) และสุขภาพดี
fengshui:
*** รวมหัวข้อ : บ้านดี ( ฮวงจุ้ยดี ) และสุขภาพดี
----------------------------------------------------------
การออกแบบบ้านให้ปลอดภัย สำหรับผู้สูงอายุ
หลักของการออกแบบก็คือ
1. มีความปลอดภัยทางกายภาพ
เช่น มีแสงสว่างเพียงพอในบริเวณบันไดหรือทางเข้า มีราวจับในห้องน้ำ พื้นกระเบื้องไม่ลื่น อุปกรณ์ปิดเปิดน้ำ
และลูกบิดเปิดประตูไม่ต้องออกแรงมากนัก มีสัญญาณฉุกเฉินอยู่บริเวณหัวเตียง หรือห้องน้ำ หรือจุดต่าง ๆ ในบ้าน
เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถกดเรียกขอความช่วยเหลือได้
2. สามารถเข้าถึงได้ง่าย
เช่น มีทางลาดสำหรับรถเข็น การออกแบบตู้ให้มีขนาดพอดี ผู้สูงอายุหยิบของได้สะดวก อยู่ใกล้แหล่งชุมชนเดิม
ญาติมิตรสามารถมาเยี่ยมเยียนได้สะดวก
3. สามารถสร้างแรงกระตุ้นให้ผู้สูงอายุได้
เช่น มีการเลือกใช้สีทาบ้านที่เหมาะสม ทำให้การใช้ชีวิตรู้สึกกระชุ่มกระชวย ไม่ซึมเศร้า มีการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ
กระตุ้นให้ผู้สูงอายุนำความสามารถต่าง ๆ มาใช้ได้อย่างเต็มที่
หรือมีการเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุได้ใช้ความสามารถก่อประโยชน์ให้กับชุมชน
4. ดูแลรักษาง่าย
กรณีนี้เกี่ยวข้องกับขนาดของบ้านที่ไม่ควรใหญ่จนเกินไป หรือถ้าหลังใหญ่ก็ควรจะมีห้อง
พร้อมบานประตูเปิดปิดได้ เพื่อความสะดวกในการดูแล สนามหญ้าอาจเปลี่ยนเป็นพุ่มไม้เตี้ย เพื่อลดภาระในการดูแลลง เป็นต้น
ลักษณะของบ้านพัก
ควรเป็นบ้านชั้นเดียว หรือมีห้องนอนอยู่ที่ชั้นล่างของบ้าน ทางเข้าบ้านควรมีระดับเดียวกับพื้นภายนอก ไม่ควรมีธรณีประตู
มีบริเวณบ้านที่สามารถทำสวน เลี้ยงสัตว์ หรือทำกิจกรรมเบา ๆ ได้ พืชพันธุ์ที่ปลูกอาจเป็นไม้ดอก ไม้หอม
ควรหลีกเลี่ยงไม้ที่มีหนาม หรือมียาง ประตูควรใช้มือจับแบบก้านโยก มีระบบตัดไฟช็อตและไฟฉุกเฉิน
ห้องนอนของผู้สูงอายุ หากมีหน้าต่างมองเห็นวิวทิวทัศน์ภายนอกได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี
ภายในห้องควรมีการระบายอากาศที่ดี พื้นห้องใช้สีสว่าง นุ่ม และบำรุงรักษาได้ง่าย
ตู้เสื้อผ้าควรเป็นแบบบานเลื่อน บริเวณหัวเตียงอาจติดตั้งสัญญาณฉุกเฉิน
สำหรับห้องน้ำ
ประตู้ห้องน้ำควรกว้างสักหน่อย (ประมาณ 1.5 - 2 เมตร) เมื่อเปิดประตู ระดับพื้นภายใน-ภายนอกควรเท่ากัน
พื้นผิวห้องน้ำไม่ควรลื่น ก๊อกน้ำควรเป็นแบบก้านโยกเพราะเมื่ออายุมากขึ้น ข้อมืออาจไม่แข็งแรงพอจะเปิด-ปิดก๊อกน้ำได้อีก
ฝักบัวควรเป็นชนิดแรงดันต่ำ และควรติดตั้งสัญญาณฉุกเฉิน
นอกจากนั้น ควรให้ความสำคัญกับพื้นที่ต่างระดับ
เช่น ใช้สีที่ตัดกัน หรือพื้นผิวที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้สูงอายุสามารถสังเกตได้ค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจากหน่วยวิจัย สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับผู้สูงอายุ
ภาควิชาเคหการ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
fengshui:
สีฟ้ากระตุ้นจินตนาการ-กล้าเสี่ยง สีแดงดึงดูดสนใจทุกรายละเอียด
โดย ผู้จัดการออนไลน์
การใช้เฟอร์นิเจอร์สีฟ้าช่วยโน้มนำความคิดสร้างสรรค์และความกล้าเสี่ยง
เอเจนซีส์ การได้อยู่ท่ามกลางสีฟ้าช่วยกระตุ้นจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ทำให้คนเรากล้าเสี่ยงมากขึ้น
ขณะที่สีแดงดึงดูดความสนใจให้มุ่งมั่นในรายละเอียด
นานมาแล้วที่สีฟ้าถูกนำไปเชื่อมโยงกับความรู้สึกสงบเยือกเย็น
แต่งานวิจัยล่าสุดจากแคนาดาระบุถึงคุณประโยชน์ใหม่ที่เฟอร์นิเจอร์หรือผนังสีนี้นำมาให้
หลังพบว่าอาสาสมัครที่ทำการทดสอบหลายอย่างมีความคิดสร้างสรรค์และกล้าเสี่ยงมากขึ้น
ในทางกลับกัน สีแดงทำให้อาสาสมัครมีสมาธิและสนใจในรายละเอียดมากขึ้น
บ่งชี้ว่าสีนี้อาจช่วยในการซึมซับข้อมูลที่ซับซ้อนหรือการอ่านหนังสือเตรียมสอบ
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย แคนาดากล่าวว่า
การค้นพบนี้อาจมีนัยต่อทุกอย่างตั้งแต่สีของคำเตือนบนฉลากยา การออกแบบสำนักงาน ห้องเรียนและป้ายจราจร
ผลศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารไซนส์ พิจารณาจากผลลัพธ์จากสีแดงและสีฟ้าที่มีต่ออาสาสมัครที่ทำแบบทดสอบที่ต้องใช้ความคิด 6 ชุด
เช่น การสร้างวลีใหม่จากพยัญชนะที่จัดให้ การจดจำคำต่างๆ และการออกแบบของเล่นสำหรับเด็ก
หลังการทดสอบ นักวิจัยพบว่าสีแดงที่มักถูกนำไปเชื่อมโยงกับอันตราย
คำเตือนและข้อผิดพลาด ทำให้อาสาสมัครตื่นตัวและระวังความเสี่ยงมากขึ้น
ในทางตรงข้าม สีฟ้าที่เชื่อมโยงกับความกว้างไกลและความรู้สึกสงบสุข ทำให้อาสาสมัครกล้าเสี่ยงมากขึ้น
การทดสอบหลายชุดทำในเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยที่อาสาสมัคร 161 คนแก้โจทย์ต่างๆ
บนแบ็คกราวด์หน้าจอสีฟ้า แดง และสีขาวสำหรับกลุ่มควบคุม
ในการทดสอบหนึ่ง อาสาสมัคร 42 คนได้รับกระดาษที่มีภาพวาดชิ้นส่วนต่างๆ 20 ชิ้น
และได้รับโจทย์ให้เลือกชิ้นส่วน 5 ชิ้นมาออกแบบของเล่นเด็ก
การออกแบบของเล่นในสภาพแวดล้อมสีแดง ได้ของเล่นที่สามารถนำไปเล่นได้จริงและมีความเหมาะสมมากกว่า
ของเล่นที่ออกแบบในสภาพแวดล้อมสีฟ้า
แต่มีลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์และแปลกใหม่น้อยกว่าของเล่นที่เกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมสีฟ้า
ดร.จูเลียต จู ผู้สอนวิชาการตลาดของมหาวิทยาลัยบริติช โคลัมเบีย และผู้นำการวิจัยอธิบาย
นักวิจัยเชื่อว่า ปฏิกิริยาตอบสนองต่อสีไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ
แต่เป็นเพราะคนเราเรียนรู้จากชีวิตประจำวันในการเชื่อมโยงสีบางสีกับสถานะอารมณ์ต่างๆ
และผลลัพธ์นี้อาจแตกต่างกันไปในแต่ละวัฒนธรรม
ผลวิจัยบ่งชี้ว่า สีต่างๆ อาจมีประโยชน์ต่างกัน ขึ้นอยู่กับลักษณะของงาน หากเป็นงานที่ต้องการความสนใจและสมาธิ ตัวอย่างเช่นการจดจำข้อมูลสำคัญหรือการทำความเข้าใจผลข้างเคียงของยาใหม่ สีแดงอาจเหมาะสมที่สุด เนื่องจากเรามักเชื่อมโยงสีแดงกับป้ายจราจร รถพยาบาล และอันตราย จึงมีปฏิกิริยาต่อสีแดงในรูปของกลไกการหลีกเลี่ยงและระมัดระวัง
อย่างไรก็ตาม หากงานต้องการความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ เช่น การออกแบบร้านขายงานศิลป์ หรือการประชุมระดมสมองสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ สีฟ้าจะมีประโยชน์มากกว่า เพราะสีนี้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับทะเล ท้องฟ้า อิสระเสรี ความสงบสุข ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ชักชวนการสำรวจพฤติกรรมและส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ รายงานการวิจัยระบุ
ผู้ออกแบบตกแต่งภายในมักใช้สีกระตุ้นให้เกิดอารมณ์ต่างๆ ตัวอย่างเช่น โรงพยาบาลมักทาสีที่ให้ความรู้สึกเยือกเย็นสงบ เช่น สีฟ้าและสีเขียว ขณะที่ร้านฟาสต์ฟูดใช้สีแดงเพื่อกระตุ้นความอยากอาหาร
fengshui:
คนในประเทศตะวันตก (ฝรั่ง) เป็นโรคหอบหืดประมาณ 50 เท่าของคนบ้านนอก (ชนบท) ในอาฟริกา
ทำให้เกิดสมมติฐานหรือความเชื่อเรื่อง "อนามัยจัด (hygiene hypothesis)" ที่ว่า
การสัมผัสพยาธิ และเชื้อโรคหลายชนิดน้อยในวัยเด็กอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้คนเป็นโรคหอบหืดกันมาก
แต่ท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ฮาโรลด์ เอส. เนลซัน ผู้เชี่ยวชาญสาขาโรคหอบหืดและภูมิแพ้
โรงพยาบาลแนชนัล จิวอิช เฮลต์ เดนเวอร์ สหรัฐฯ กล่าวว่า
สมมติฐานเรื่อง "อนามัยจัด" ยังอธิบายปรากฏการณ์ที่โรคหอบหืดเพิ่มขึ้นมากเป็น 2 เท่าในสหรัฐฯ
ตั้งแต่ช่วงปี 1980s (1980-1989 หรือ พ.ศ. 2523-2532 ได้ไม่ดีเท่าไร
ท่านกล่าวในที่ประชุมวิชาการว่า สาเหตุอื่นๆ ที่เป็นไปได้คือ
1. การที่ระดับวิตามิน D ของคนสหรัฐฯ ลดต่ำลง
2. การใช้สเปรย์ทำความสะอาดหรือ "สเปรย์สำหรับห้องปรับอากาศหรือห้องแอร์ (air refreshener)"
และน้ำยาทำความสะอาดกระจก ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง
การศึกษาจากประเทศยุโรป 10 ประเทศพบว่า ผู้ใหญ่ที่ใช้สเปรย์ "ทำความสะอาด"
4 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีความเสี่ยง (โอกาสเป็นโรค) หอบหืดเพิ่มขึ้น 2 เท่า (200%)
1 ครั้งต่อสัปดาห์ขึ้นไป มีความเสี่ยง (โอกาสเป็นโรค) หอบหืดเพิ่มขึ้น 50%
...
การศึกษาจากออสเตรเลียก็พบว่า สเปรย์ "ทำความสะอาด" เพิ่มเสี่ยงโรคหอบหืดในเด็ก
ส่วนการศึกษาในสหรัฐฯ ปี 2007 หรือ พ.ศ. 2550 พบว่า
ผู้หญิงตั้งครรภ์ (ท้อง) ที่มีระดับวิตามิน D ในเลือดต่ำเพิ่มเสี่ยงโรคหอบหืดทั้งแม่และลูก ***
การศึกษาในเด็กอายุ 6-7 ขวบมากกว่า 200,000 คนพบว่า
การใช้ยาแก้ไข้แก้ปวดพาราเซตามอลในขวบปีแรกเพิ่มเสี่ยงโรคหอบหืด 46%
เด็กที่ใช้ยาพาราเซตามอลมากมีความเสี่ยงโรคหอบหืดเพิ่มขึ้น 3 เท่า (300%)
กลไกที่อาจเป็นไปได้คือ พาราเซตามอลทำให้ระดับสารต้านอนุมูลอิสระที่ชื่อ "กลูทาไตโอน (glutathione)" ลดลง
...
อาจารย์เนลซันกล่าวว่า เรื่องยาพาราเซตามอลนั้น... ยังไม่ควรเลิกใช้
เนื่องจากยากลุ่มอื่นที่พอจะแก้ไข้แก้ปวดในเด็กได้อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงจากยาได้บ่อย
คำแนะนำตอนนี้คือ
ควรลดการใช้น้ำยาเช็ดกระจก และสเปรย์ เช่น สเปรย์ปรับอากาศ (ดับกลิ่น) ฯลฯ ในบ้านให้น้อยลง
เพิ่มการระบายอากาศในบ้านหรืออาคารให้ดีขึ้น
fengshui:
นพ. วัลลภ พรเรืองวงศ์
การศึกษาใหม่พบว่า "ถ้าคุณเป็นอย่างที่คุณกิน (สำนวนนี้ฮิตมาก), คุณเป็นผลลัพธ์จากที่ที่คุณอยู่:
การมีเพื่อนบ้านที่เป็นมิตร (pleasant = น่าคบ)
และเดินไปมา (ออกกำลังได้ง่าย โดยเฉพาะย่านนั้นปลอดภัย ไม่มีคนขาดความรับผิดชอบเลี้ยงน้องหมาพันธุ์โหดที่คอยไล่เห่า-ไล่กัดคนข้างบ้าน), มีผักผลไม้สดๆ ใกล้มือ (= ไปซื้อได้ง่ายและสะดวก), ช่วยลดเสี่ยงเบาหวานชนิด 2 [ Reuters ]
...
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเรื่องนี้ไว้ในต้นฉบับว่า 'If you are what you eat, you may also be a product of where you live:
Living in a neighborhood where it's pleasant and easy to walk and fresh fruits and vegetables are close at hand can slash a person's risk of developing type 2 diabetes, new research shows.'
...
การอยู่ในละแวกบ้านที่เพื่อนบ้านเป็นมิตร สิ่งแวดล้อมดี และซื้อหาผักผลไม้สดๆ ได้ง่าย
ช่วยลดเสี่ยงเบาหวานได้ 38% เมื่อเทียบกับละแวกบ้านที่แย่ที่สุด (unhealtheist)
อ.ดร.เอมี เอช. เอาชินคลอสส์ และคณะ แห่งวิทยาลัยสาธารณสุขเดรกเซล ฟิลาเดลเฟีย สหรัฐฯ พบว่า
นวัตกรรมทางสังคม เช่น การขนส่งมวลชน การเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำทางเดินเท้าให้ปลอดภัย เช่น ปลอดภัยจากน้องหมาพันธุ์โหด
ไม่มีแผงลอยเกะกะ ฯลฯ เพิ่มตลาดผักผลไม้ใกล้บ้าน ช่วยให้โรคอ้วนและเบาหวานลดลง
...
การศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบทางสังคมจากเพื่อนบ้านก่อนหน้านี้ได้ผลไม่แน่นอน
อาจารย์เอาชินคลอสส์จึงทำการศึกษาใหม่ในกลุ่มตัวอย่าง 2,285 คน อายุ 45-84 ปี จากหลายๆ พื้นที่รวมกัน ติดตามไป 5 ปี
ผลการศึกษาพบว่า คนที่มีเพื่อนบ้าน-สิ่งแวดล้อมดี 'top 10' หรือแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 10 กลุ่ม
แล้วเลือกกลุ่มที่ได้คะแนนสูงสุด (10 อันดับดีสุดจาก 100) และมีแหล่งออกแรง-ออกกำลัง เช่น เดินเร็ว วิ่ง ขึ้นลงบันได ฯลฯ ได้ง่าย
มีความเสี่ยงเบาหวานลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับกลุ่มที่แย่ที่สุด
...
กลุ่มที่หาอาหารสุขภาพได้ง่ายมีความเสี่ยงลดลงประมาณครึ่งหนึ่งเช่นกัน
ปัญหาใหญ่คือ ละแวกที่มีเพื่อนบ้านดี-สิ่งแวดล้อมดีมักจะเป็นเขตของคนที่มีฐานะดีกว่า (รวยกว่า), มีสัดส่วนคนขาว (ฝรั่ง) มากกว่า,
และแม้จะตัดปัจจัยเรื่องฐานะ-ผิวสีออกไป ผลลัพธ์ก็ยังพบว่า เพื่อนบ้านดี-สิ่งแวดล้อมดีช่วยลดเสี่ยงเบาหวานได้มากประมาณ 38%
fengshui:
การศึกษาจากสหราชอาณาจักร (UK) พบอากาศในบ้านดีช่วยลดความชื้น (ที่มากเกิน)
ทำให้คนที่เป็นโรคหอบหืดหายใจสบายขึ้นตอนกลางคืน [ Reuters ]
กลไกที่เป็นไปได้ คือ การลดความชื้นสะสมในบ้าน มีส่วนช่วยลดจำนวนไรฝุ่น
ซึ่งชอบอากาศชื้นให้น้อยลง และอาจช่วยลดความหนาแน่นไรฝุ่นในบ้าน
...
อ.ดร.นีล ซี. ตอมซัน และคณะ แห่งมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ สกอตแลนด์ UK ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างที่เป็นโรคหอบหืดมานาน 9-30 ปี
อายุเฉลี่ย 42 ปี 119 คน ติดตามไปนาน 12 เดือน
การศึกษาทำโดยติดตั้งระบบลดความชื้น (เช่น ติดพัดลมดูดอากาศ ฯลฯ) ทำความสะอาดพรมด้วยไอน้ำร้อน
เปลี่ยนผ้าปูเตียง-ผ้าห่ม เพื่อลดไรฝุ่น
...
กลุ่มควบคุมได้รับการติดตั้งระบบลดความชื้น แต่ทำให้พัดลมไม่ทำงาน เพื่อให้อยู่แบบ "เดิมๆ" โดยไม่รู้ตัว
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่ได้รับการติดตั้งเครื่องควบคุมความชื้น และระบายอากาศมีสมรรถภาพปอดดีขึ้นจากการทดสอบการหายใจตอนเย็น ส่วนกลุ่มที่ให้อยู่แบบเดิมๆ มีสมรรถภาพปอดแย่ลง
...
การลงทุนให้บ้านมีการระบายอากาศดีขึ้นอาจทำได้โดยการทำบ้านให้รกน้อยลง นำของที่ไม่จำเป็นออกไปทีละน้อย
เช่น หนังสือเก่าที่ไม่ได้อ่านในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ฯลฯ ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ หรือทำการระบายอากาศให้ดีขึ้น
ทั้งนี้และทั้งนั้น, ควรระวังความปลอดภัยจากโจรผู้ร้ายด้วยเช่นกัน
นำร่อง
[0] ดัชนีข้อความ
[#] หน้าถัดไป
Go to full version